ภาษีมรดก
ภาษีมรดกเป็นภาษีที่ถูกเรียกเก็บเมื่อมีการโอนทรัพย์สินจากพ่อ-แม่ คนในครอบครัว หรือผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เสียชีวิตลง ให้กับทายาทหรือผู้รับมรดกโดยเป็นการเรียกเก็บที่นิยมทำกันในประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อความยุติธรรมในการจัดเก็บภาษีตามความสามารถในการเสียภาษี หรือเรียกว่าเก็บภาษีตามฐานะ โดยจะคำนวณจากทรัพย์สินในกองมรดกทั้งหมดที่ตกทอดจากผู้เสียชีวิตไปยังทายาทหรือผู้รับมรดก และสามารถแยกเป็น 2 ประเภท คือ
- ภาษีกองมรดก เป็นการรวบรวมทรัพย์สินทั้งหมดของผู้เสียชีวิตมาประเมินภาษีและชำระตามจำนวนที่ประเมินได้ จากนั้นจึงนำทรัพย์สินตกทอดไปยังทายาทหรือผู้รับมรดก โดยจะเป็นการ จัดเก็บจากอัตราก้าวหน้าตามมูลค่าของกองมรดก ซึ่งมีข้อดีในการจัดเก็บภาษีได้มากและเป็นธรรมตามมูลค่ามรดก แต่มีข้อเสียคือเป็นการจัดเก็บแบบเหมารวม ดังนั้นเมื่อทายาทนำมรดกไปแบ่งกันอาจทำให้คนที่ได้รับมรดกน้อยเสียภาษีเท่ากับคนที่ได้รับมรดกมากกว่า
- ภาษีการรับมรดก เป็นการจัดเก็บภาษีหลังการแบ่งมรดกโดยผู้รับมรดกแต่ละคนเป็นผู้เสียภาษี ซึ่งจะมีอัตราไม่เท่ากันตามจำนวนมรดกที่ได้รับ แต่ลำดับชั้นของสิทธิในการรับมรดก เช่นผู้รับมรดกแบบพินัยกรรม ซึ่งไม่ใช่ทายาทโดยตรงก็จะเสียภาษีมากกว่าทายาท โดยตรง เป็นต้น สำหรับข้อดีของภาษีชนิดนี้ คือเมื่อแบ่งมรดกออกเป็นส่วนๆให้ทายาทแต่ละคนแล้ว จะมีโอกาสที่ต้องเสียภาษีน้อยกว่า เพราะมีเกณฑ์ขั้นต่ำในการจัดเก็บภาษีมรดก หากจำนวนมรดกที่ได้รับไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่ข้อเสียคือภาครัฐจัดเก็บภาษีได้ยาก และการเรียกเก็บเป็นรายคนต้องใช้เวลามากขึ้นกว่าการเก็บแบบรวม
ใครต้องเสียภาษีมรดก
ผู้ที่ต้องเสียภาษีมรดก คือ ผู้ที่ได้รับมรดกจากเจ้าของมรดก ซึ่งแบ่งออกเป็นทายาทโดยธรรม และผู้รับพินัยกรรม ซึ่งเรียงลำดับได้รับมรดกก่อนและหลังดังนี้ทายาทโดยธรรม
- ลูกเจ้าของมรดก ลูกนอกสมรสที่รับรองบุตรแล้ว ลูกบุญธรรม และคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย
- บิดา – มารดาแท้ๆ ของเจ้าของมรดก
- พี่ – น้อง ร่วมบิดา – มารดาเดียวกัน
- พี่ – น้อง ร่วมบิดา หรือ ร่วมมารดาเดียวกัน
- ปู่ – ย่า – ตา – ยาย
- ลุง – ป้า – น้า – อา
ผู้รับพินัยกรรม
คือผู้ที่ถูกกำหนดไว้ว่าให้รับมรดกจากเจ้าของมรกดที่เสียชีวิต หรือสิทธิตามพินัยกรรม ทั้งนี้ทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรมอาจเป็นคนเดียวกันก็ได้แตกต่างกันที่ทายาทโดยธรรมต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น