การเบิกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบิลค่าน้ำมัน”รถยนต์”

ปัญหาของค่าน้ำมันรถยนต์และค่าใช้จ่ายรถยนต์

ปัญหาของรถยนต์ที่นำมาใช้ในการประกอบธุรกิจจะมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน คือ

1.รถยนต์ของกิจการ

หากรถยนต์นั้นเป็นกิจการ ไม่ว่าจะซื้อ เช่า หรือเช่าซื้อในนามของกิจการเมื่อมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์นั้นเกิดขึ้นย่อมถือเป็นรายจ่ายของกิจการทำให้กิจการมีสิทธินำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ไม่ต้องห้าม ซึ่งจะต้องเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโดยตรง และหากมีภาษีซื้อเกิดขึ้นจากค่าใช้จ่ายของรถยนต์ หากรถยนต์นั้นเป็นรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ภาษีซื้อถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่มีสิทธินำไปหักออกจากภาษีขายหรือขอคืนภาษีซื้อ แต่ถ้ารถยนต์นั่งไม่ใช่รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ภาษีซื้อมีสิทธินำไปหักออกจากภาษีขายหรือขอคืนได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร

2.รถยนต์ของพนักงาน

ในกิจการบางประเภทได้มีการน้ำรถยนต์ของพนักงานมาใช้ในกิจการปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของพนักงานจะถือเป็นรายจ่ายได้หรือไม่ในการนำไปคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้ประกอบการจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้พนักงานที่นำรถยนต์มาใช้ในกิจการ และเบิกค่าน้ำมัน คือ

2.1 เบิกตามบิลน้ำมัน

พนักงานเติมน้ำมันรถยนต์เพื่อนำไปใช้ในการประกอบกิจการ ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้าม แต่ต้องมีระเบียบพนักงงานเขียนไว้ให้เบิกได้ครั้งละเท่าไหร่ และต้องมีรายการระบุวัตถุประสงค์ของการเดินทางเพื่อพิสูจน์ว่าเกิดขึ้นจริงเกี่ยงข้องกับการประกอบธุรกิจ

2.2 เบิกตามจริงหรือตามระยะทาง

วิธีเบิกค่าน้ำมันตามจริงหรือตามระยะทาง ต้องมีการจัดทำรายงานการเดินทาง ดูจากมิเตอร์วัดระยะทางว่าเดินทางเป็นระยะทางกี่กิโล และกำหนดระเบียบให้เบิกค่าน้ำมันรถยนต์ตามกิโลเมตร เช่น กิโลเมตรละ 3 – 5 บาท ค่าน้ำมันที่เบิกวิธีนี้มักรวมกับค่าเสื่อมของรถยนต์พนักงานที่นำมาใช้ในงานของกิจการ แต่หากจะเบิกตามระยะทางก็ยังต้องนำบิลค่าน้ำมันมาแนบเป็นหลักฐานในการเบิกค่าน้ำมันด้วย ตัวอย่าง เช่น บิลค่าน้ำมัน 500 บาท แต่ระยะทางในการเดินทางตามกิโลเมตรเบิกได้ 180 บาท กิจการถือเป็นรายจ่ายได้ 180 บาท

2.3 เหมาจ่ายค่าน้ำมัน

บางกิจการมีพนักงานนำรถยนต์มาใช้ในกิจการเป็นจำนวนมาก เช่น พนักงานขาย อาจจะจ่ายเป็นแบบเหมาจ่ายเป็นรายเดือน เช่น เดือนละ 2,000 -4,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้ เมื่อถึงสิ้นเดือนพนักงานนำบิลมาเบิก ปัญหาที่เกิดคือ เงินที่เหมาจ่ายลักษณะนี้ พนักกงานได้จ่ายไปจริงหรือไม่ และเกี่ยวข้องกับกิจการหรือไม่ เจ้าพนักงานประเมินมักจะใช้อำนาจประเมินให้ถือเป็นเงินได้ของพนักงานเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงาน เมื่อกิจการจ่ายเงินให้จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายรวมกับเงินเดือนของพนักงาน และพนักงานต้องถือเป็นเงินได้รวมกับเงินเดือนของตนเองด้วย ก็จะทำให้กิจการถือเป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร
 
www.pornkawinthip.com