เมื่อออกจากงานจะต้องจ่ายภาษีอย่างไร
เงินได้ที่ได้หลังออกจากงานหรือเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) แบ่งเป็น 4 ประเภทตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับเงินได้ (ฉบับที่ 45 ) ดังนี้
- เงินได้ที่คำนวณตามหลักเกณฑ์และวิธีการเช่นเดียวกับวิธีการคำนวณบำเหน็จตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
- เงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
- เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
- เงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการตาม (1)
มีเงื่อนไขในการรับยกเว้นภาษีดังนี้
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี
- เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน โดยยกเว้นไม่เกินค่าจ้าง 300 วันสุดท้าย และไม่เกิน 300,000 บาท
- เงินหรือผลประโยชน์ที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยกเว้นกรณี ตาย ทุพพลภาพ เกษียณอายุ ออกจากงาน เมื่ออายุ 55 ปี หรือคงเงินหรือผลประโยชน์ไว้
- เงินบำเหน็จดำรงชีพ ยกเว้นไม่เกิน 15 เท่า ของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- เงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการ ไม่จำกัดจำนวน
เอกสารที่ใช้สำหรับคำนวณภาษีเมื่อออกจากงาน
- หนังสือแจ้งเหตุออกจากงาน เป็นหนังสือหรือเอกสารที่ระบุสาเหตุการออกจากงาน เช่น เลิกจ้างเนื่องจากลดขนาดองค์กร สิ้นสุดสัญญาจ้าง หรืออื่นๆถือเป็นเอกสารสำคัญ สำหรับคนที่ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย เพราะจะต้องนำไปใช้เพื่อแสดงว่าตนมีสิทธิได้รับยกเว้นเงินชดเชยตามมาตรา 118 แห่ง พ.ร.บ คุ้มครองแรงงานหรือไม่ โดยกรณีที่จะได้รับยกเว้นเงินชดเชยตามกฎหมาย ต้องเป็นการให้ออกจากงานด้วยความไม่สมัครใจ (ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ลูกจ้างหรือพนักงานได้รับ เพราะเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ซึ่งไม่ได้รับยกเว้น)
- หนังสือรับรองระยะเวลาการทำงาน ระบุวันที่เริ่มทำงานถึงวันสุดท้ายที่ทำงานหรือจำนวนปีที่ทำงาน หรือจำนวนปีที่ทำงานก่อนออกจากงาน
- หนังสือรับรองเงินเดือน 12 เดือนสุดท้าย โดยระบุเงินเดือนที่ได้รับในแต่ละเดือน สำหรับคนที่ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย หรือผู้มีเงินได้ที่ใช้สิทธิแยกคำนวณภาษีด้วยใบแนบ กรณีเลือกไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น
- หนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่าย (50ทวิ) กรณีออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกรณีคงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ ต้องมีหลักฐานการคงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้สำหรับเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรณีได้รับยกเว้นต้องเป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 188) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- หนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่าย (50ทวิ) กรณีเป็นเงินได้พึงประเมินที่จ่ายครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ซึ่งแต่ละบริษัทหรือองค์กรอาจมีเงื่อนไขแตกต่างกัน อาจจ่ายหรือไม่จ่ายเงินได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อตกลงของแต่ละบริษัทและองค์กร
- หนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่าย (50ทวิ) กรณีเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) หรือ (2) ที่ได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หมวด 11 ค่าชดเชย มาตราที่ 118-122ซึ่งต้องพิจารณาว่าเป็นไปตามเงื่อนไขและได้รับยกเว้นได้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 126 พ.ศ. 2509 หรือไม่
สิ่งสำคัญคือสำหรับท่านที่ต้องออกจากงาน และได้รับเงินได้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน คือการขอหนังสือรับรองเป็นหลักฐานจากนายจ้าง และเก็บรักษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง สำหรับใช้ประกอบยื่นแบบแสดงรายการภาษีให้ครบถ้วน เพื่อเป็นการรักษาสิทธิประโยชน์ที่ท่านพึงได้รับ