กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย
ประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ดังนั้น ผู้ประกันตนที่ว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยตามกฎกระทรวงดังกล่าว จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563
เหตุสุดวิสัย หมายความรวมถึง ภัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคติดต่ออันตรายอื่นตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชน และถึงขนาดที่ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ดังนี้
1. ในกรณีมีเหตุสุดวิสัย และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค ให้ลูกจ้างซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน แต่ไม่เกิน 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 หรือตามระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
2. ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยถึงขนาดที่นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นการชั่วคราว และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน ไม่สามารถทำงานได้และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ไม่ว่านายจ้างจะหยุดประกอบกิจการเองหรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ลูกจ้างซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกิน 90 วัน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 หรือตามระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยให้จ่ายเป็นรายเดือนสำหรับเศษของเดือนให้คำนวณจ่ายเป็นรายวัน
การยื่นขอรับประโยชน์ทดแทน
1 แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน และเอกสารประกอบการยื่นเรื่อง
– แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2 – 01/7) (สำหรับผู้ประกันตน)
– หนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ (สำหรับนายจ้าง) แนบท้ายกฎกระทรวง
– สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน
– กรณียื่นแบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่ต้องใช้เอกสารประกอบ
– **สำหรับผู้ประกันตนต่างชาติ -สำเนา Passport – สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน
2 ระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยผู้ประกันตน/ผู้มีสิทธิ ยื่นคำขอฯ ได้ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
3 สถานที่ยื่นคำขอฯ ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ/ หรือยื่นทางไปรษณีย์
4. การยื่นหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยโดยยื่นผ่านระบบ e-service บนเว็บไซต์ www.sso.go.th
**4 ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 ถึง 31 มีนาคม 2564 สำนักงานประกันสังคมเพิ่มช่องทางอีก 4 ช่องทางคือ ส่งทางโทรสาร/ อีเมล์/ ไลน์/ยื่นแบบ e-Form ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th **
การพิจารณาเงื่อนไขการเกิดสิทธิ
1 เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และยังไม่สิ้นสภาพการจ้างเท่านั้น ต้องไม่ลาออกจากงานหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือถูกเลิกจ้าง
2 ผู้ประกันตนต้องไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้างระหว่างว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย
3 จ่ายเงินสมทบกรณีว่างงานไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ (มาตรา 79/1)
ให้งดจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย
1 ผู้ประกันตนลาออกจากงาน สิ้นสุดสัญญาจ้าง หรือถูกเลิกจ้าง ให้งดจ่ายตั้งแต่วันที่ได้ลาออกจากงาน วันที่สิ้นสุดสัญญาจ้าง หรือวันที่ถูกเลิกจ้าง
2 ผู้ประกันตนกลับเข้าทำงานหรือวันที่สถานประกอบการเปิดดำเนินการได้ ให้งดจ่ายตั้งแต่วันที่กลับเข้าทำงาน หรือวันที่สถานประกอบการเปิดดำเนินการ
www.pornkawinthip.com