อากรแสตมป์ 

ตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ 

คำว่า “ตราสาร” ตามประมวลรัษฎากรหมายถึง เอกสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตรา อากรแสตมป์ ซึ่งปัจุจบันมีทั้งหมด 28 ลักษณะตราสาร เช่น ตราสารเช่าที่กับโรงเรือน เช่าซื้อทรัพย์สิน จ้างทำของ กู้ยืมเงิน ฯลฯ อากรแสตมป์เป็นภาษีอากรที่จัดเก็บจากการกระทำตราสาร โดยคำว่า กระทำ หมายความว่า การลงลาย มือชื่อตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ผู้มีหน้าที่เสียอากรแสตมป

ผู้มีหน้าที่เสียอากรแสตมป์ มีดังนี้

1. บุคคลตามที่ระบุไว้ในช่องที่ 3 ของบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เช่น ผู้ให้เช่าผู้โอน ผู้ให้กู้ ผู้รับประกันภัย ฯลฯ

2. ถ้าตราสารทำขึ้นนอกประเทศ ให้เป็นหน้าที่ของผู้ทรงตราสารคนแรกในประเทศเป็น ผู้เสียอากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับตราสารนั้น

ถ้าหากไม่ได้ปฏิบัติตามความข้างต้น ผู้ทรงคนใดคนหนึ่งต้องเสียอากรแล้วจึงยื่นตราสารเพื่อให้จ่ายเงิน รับรอง สลักหลัง โอนหรือถือเอาประโยชน์ได้

ผู้ทรงตราสารคนใด ได้ตราสารตามความข้างต้นไว้ในครอบครองก่อนพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับตราสารนั้น จะเป็นผู้เสียอากรก็ได้โดยมีสิทธิไล่เบี้ยจากผู้ทรงคนก่อนๆ

3. ตั๋วเงินที่ยื่นให้ชำระเงิน มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ผู้รับตั๋วจะเสียอากรและใช้สิทธิไล่เบี้ยจาก ผู้มีหน้าที่เสียอากร หรือหักค่าอากรจากเงินที่จะชำระก็ได้

4. ผู้มีหน้าที่เสียอากร ตามที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ อาจตกลงให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นผู้เสียอากรแทนตนก็ได้ เว้นแต่กรณีตาม 2.

วิธีการเสียอากร

วิธีการเสียอากรแสตมป์สำหรับการทำตราสาร เรียกว่า “ปิดแสตมป์บริบูรณ์” ซึ่งหมายความว่า

1. ในกรณีแสตมป์ปิดทับ คือการได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ทับกระดาษก่อนกระทำหรือใน ทันทีที่ทำตราสารเป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและได้ขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้ว หรือ

2. ในกรณีแสตมป์ดุน คือการได้เสียอากรโดยใช้กระดาษมีแสตมป์ดุนเป็นราคาไม่น้อยกว่า อากรที่ต้องเสีย และขีดฆ่าแล้ว หรือโดยยื่นตราสารให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับแสตมป์ดุน และชำระเงินเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและขีดฆ่าแล้ว หรือ

3. ในกรณีชำระเป็นตัวเงิน คือการได้เสียอากรเป็นตัวเงิน เป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียตาม บทบัญญัติในหมวดอากรแสตมป์ หรือตามระเบียบที่อธิบดีจะได้กำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

การปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามข้อ 1. และ 2. ดังกล่าวข้างต้น อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ปฏิบัติตาม ที่กำหนดในข้อ 3. แทนได้ คือ กำหนดให้เสียอากรเป็นตัวเงิน เช่น กรณีตั๋วแลกเงิน เช็ค ใบรับรางวัลฉลากกินแบ่ง ใบรับเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์ ใบรับเกี่ยวกับยานพาหนะ ตราสารตั๋วสัญญาใช้เงินเฉพาะที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เป็นผู้ออกตั๋ว จ้างทำของ เฉพาะที่รัฐบาล องค์การของรัฐบาลเป็นผู้ว่าจ้างและมีสินจ้างตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป กู้ยืมเงินหรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร กรมธรรม์ประกันภัย ตั๋วสัญญาใช้เงิน เลตเตอร์ออฟเครดิต ฯลฯ

การขอเสียอากรเป็นตัวเงิน

การขอเสียอากรเป็นตัวเงิน ก็เพื่อความสะดวกในการเสียอากร ที่มีค่าอากรแสตมป์เป็นจำนวนมาก ไม่สะดวกในการใช้ดวงแสตมป์อากรปิดบนตราสารหรือในกรณีไม่สะดวกในการชำระค่าอากร โดยใช้แสตมป์ดุน การขอเสียอากรเป็นตัวเงิน ปฏิบัติดังนี้

(1) การขอเสียอากรเป็นตัวเงิน ใช้แบบ อ.ส.4 (แบบขอและอนุมัติให้เสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน)ยื่นต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยแนบตราสารที่ขอเสียอากรไปด้วย ให้ยื่นต่อสำนักงานสรรพากรอำเภอ

(2) สำหรับตราสารที่เป็น

(2.1) ตั๋วแลกเงินหรือตราสารทำนองเดียวกันที่ใช้อย่างตั๋วแลกเงินเฉพาะที่ธนาคารประกอบกิจการ ในราชอาณาจักรเป็นผู้สั่งจ่าย ตามลักษณะแห่งตราสาร 9(1) และใบรับฝากเงินประเภท ประจำของธนาคารโดยมี ดอกเบี้ย ตามลักษณะแห่งตราสาร 13

(2.2) เช็คที่ออกในราชอาณาจักร ตามลักษณะแห่งตราสาร 12

(2.3) เช็คสำหรับผู้เดินทางที่ออกหรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ตามลักษณะแห่งตราสาร 15 มีวิธีการเสียอากรเป็นตัวเงินดังนี้

– ตราสารตามข้อ (2.1) ให้ธนาคารผู้สั่งจ่ายหรือผู้รับฝาก แล้วแต่กรณีชำระอากรเป็นตัวเงิน แทนการปิดแสตมป์

– ตราสารตามข้อ (2.2) และ (2.3) ให้ผู้สั่งจ่ายหรือผู้ทรงคนแรกชำระอากรเป็นตัวเงินแทน การปิดแสตมป์ โดยชำระไว้ต่อธนาคาร

– ตราสารตามข้อ (2.3) ที่ธนาคารเป็นผู้ออก ให้ธนาคารชำระอากรเป็นตัวเงินแทน การปิดแสตมป์

– ธนาคารผู้ชำระเงินหรือรับชำระเงินค่าอากร ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร นำเงินค่าอากรที่มีหน้าที่ต้องชำระ หรือได้รับชำระไว้ใปยื่นขอชำระต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ อากรแสตมป์ ณ สำนักงานสรรพากรอำเภอ โดยใช้แบบ อ.ส.4ก (แบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารเช็คหรือตั๋วแลกเงิน) พร้อมชำระเงิน ส่วนธนาคารที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในท้องที่นอกเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นชำระเงิน ณ สำนักงานสรรพากรอำเภอ หรือกิ่งอำเภอท้องที่

(3) ใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้งสิทธิใดๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในเมื่อนิติกรรมที่เป็นเหตุให้ ออกใบรับนั้นมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย ตามลักษณะแห่งตราสาร 28(ข) ให้ชำระค่าอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (กรมที่ดิน)

(4) ใบรับเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล กำหนดให้ชำระอากรเป็นตัวเงินต่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

การขีดฆ่าอากร

คำว่า “ขีดฆ่า” หมายความว่า การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยในกรณีแสตมป์ปิดทับ ได้ลงลายมือชื่อหรือลงชื่อห้างร้านบนแสตมป์ หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษ และลงวัน เดือน ปี ที่กระทำสิ่งเหล่านี้ด้วย ในกรณีแสตมป์ดุนได้เขียนบนตราสารหรือยื่นตราสารให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับ แสตมป์ดุน ให้แสตมป์ปรากฏอยู่ในด้านหน้าของตราสารนั้น

ความรับผิดกรณีไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์และการไม่ออกใบรับ

1. ความรับผิดทางแพ่ง

1.1 กรณียื่นตราสารขอเสียอากรเอง ตราสารใดมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ผู้มีหน้าที่เสียอากร หรือผู้ทรงตราสาร หรือผู้ถือเอาประโยชน์ชอบที่จะยื่นตราสารนั้น ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อขอเสียอากรได้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับตราสารแล้ว ให้อนุมัติให้เสียอากรภายในบังคับแห่งบทบัญญัติต่อไปนี้

ถ้าตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์นั้น เป็นตราสารที่กระทำขึ้นในประเทศไทย เมื่อผู้ขอเสียอากร ได้ยื่นตราสารนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อเสียอากรภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ต้อง ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ก็ให้อนุมัติให้เสียเพียงอากรตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดอากรแสตมป์

1.2 กรณีปรากฎต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นอย่างอื่น ก็ให้อนุมัติให้เสียอากรและให้เรียกเก็บ เงินเพิ่มอากร ดังต่อไปนี้อีกด้วย

(ก) ถ้าปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าตราสารมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์เป็นเวลา ไม่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มอากรเป็น 2 เท่าจำนวน อากรหรือเป็นเงิน 4 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

(ข) ถ้าปรากฎต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า ตราสารมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์เป็นเวลาพ้น กำหนด 90 วัน นับแต่วันต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้วให้เรียกเก็บเงินเพิ่มอากรเป็น 5 เท่าจำนวน อากรหรือเป็นเงิน 10 บาทแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

1.3 กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจทำการตรวจพบ กล่าวคือเมื่อมีเหตุสมควรพนักงาน เจ้าหน้าที่หรือนายตรวจมีอำนาจเข้าไปในสถานการค้าหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องระหว่าง พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานการค้าหรือสถานที่นั้น เพื่อทำการตรวจสอบตราสารว่าได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตาม ที่กำหนดในบัญชีอัตราอากรแสตมป์หรือไม่ หรือทำการตรวจสอบเพื่อทราบว่าได้ออกใบรับ หรือทำหรือ เก็บต้นขั้วสำเนาใบรับ หรือทำหรือเก็บบันทึกตามที่กำหนดไว้ในหมวดอากรแสตมป์ หรือไม่กับมีอำนาจ เรียกและยึดตราสาร หรือเอกสารและออกหมายเรียกตัวผู้มีหน้าที่เสียอากร ผู้ทรงตราสารหรือผู้ถือเอาประโยชน์แห่ง ตราสารและพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาไต่สวน โดยการกล่าวหาแจ้งความของบุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าพนักงานรัฐบาลหรือมิใช่ก็ดี ถ้าปรากฎว่า

(1) มิได้มีการออกใบรับในกรณีที่ต้องออกใบรับตามข้อ 2 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บ เงินอากรจนครบ และเงินเพิ่มอากรอีกเป็นจำนวน 6 เท่าของเงินอากรหรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

(2) ตราสารมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ โดย

(ก) มิได้ปิดแสตมป์เลย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บเงินอากรจนครบ และเงินเพิ่มอากรอีกเป็นจำนวน 6 เท่า ของเงินอากรที่ต้องเสียหรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

(ข) ปิดแสตมป์น้อยกว่าอากรที่ต้องเสีย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บเงิน อากรจนครบ และเงินเพิ่มอีกเป็นจำนวน 6 เท่าของเงินอากรที่ขาดหรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

ในกรณีอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรเป็นจำนวน 1 เท่าของเงินอากร ที่ต้องเสียหรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

2. ความรับผิดทางอาญา

2.1 ผู้ใดมีหน้าที่เสียอากร หรือขีดฆ่าแสตมป์ เพิกเฉยหรือปฏิเสธไม่เสียอากรหรือไม่ขีดฆ่าแสตมป์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

2.2 ผู้ใดออกใบรับไม่ถึง 10 บาท สำหรับมูลค่าตั้งแต่ 10 บาทขึ้นไป หรือแบ่งแยกมูลค่าที่ได้รับชำระนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียอากรก็ดี จงใจกระทำหรือทำตราสารให้ผิดความจริงเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม บทบัญญัติแห่งหมวดนี้ก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท

2.4 ผู้ใดไม่ทำหรือไม่เก็บบันทึกตามมาตรา 105 ตรี หรือไม่ออกใบรับให้ทันทีที่ถูกเรียกร้องตาม มาตรา 106 (ข้อ 2.2) หรือออกใบรับซึ่งไม่ปิดแสตมป์ตามจำนวนอากรที่ต้องเสีย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

2.5 ผู้ใดโดยตนเองหรือสมคบกับผู้อื่นทำให้ไม่มีการออกใบรับหรือไม่ออกใบรับให้ทันทีที่รับเงิน หรือรับชำระราคาตามมาตรา 105 (ข้อ 2.1) หรือออกใบรับเป็นจำนวนเงินน้อยกว่า ที่รับเงินหรือรับชำระราคาจริง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือทั้งปรับทั้งจำ

2.6 ผู้ใดโดยรู้อยู่แล้วไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจในการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือโดยรู้อยู่แล้วหรือจงใจไม่ปฏิบัติตามคำเรียกหรือไม่ยอมให้ยึดตราสารหรือ เอกสาร หรือไม่ปฏิบัติตามหมายของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจ ตามความในมาตรา 123 หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 105 ทวิ (ข้อ 3) มาตรา 105 จัตวา (ข้อ 5) หรือมาตรา 123 ทวิ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

2.7 ผู้ใดโดยเจตนาทุจริตมีแสตมป์ซึ่งรู้อยู่ว่าเป็นแสตมป์ปลอมก็ดี หรือค้าแสตมป์ที่ใช้แล้วหรือที่มีกฎกระทรวง ประกาศให้เลิกใช้เสียแล้วก็ดี ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาทหรือจำคุกไม่เกิน สามปีหรือทั้งปรับทั้งจำ