รายรับถึงเกณฑ์ที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม “สำหรับธุรกิจบริการ”
รูปแบบของการประกอบกิจการในยุค Digital มีลักษณะของการให้บริการในรูปแบบต่างๆกระทำผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เช่น การให้เช่าพื้นที่ขายสินค้าในมาร์เก็ตเพลส (Market place) การให้บริการดาวน์โหลด (download) เพลง เกม ภาพยนตร์ ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ ทำให้ธุรกิจต่างๆเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายและสะดวกกว่าในอดีต ซึ่งผู้ประกอบการให้บริการออนไลน์บางรายที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในภาษีอากรต่างๆ อาจจะมีความกังวลในเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม
ความกังวลส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการอาจจะกังวลในเรื่องว่า การประกอบกิจการให้บริการของตนอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีอากรหรือไม่ หากถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีอากร กฎหมายมีหลักเกณฑ์ในเรื่องการคำนวณรายได้ที่กิจการต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี (เฉลี่ย 150,000 บาทต่อเดือน) อย่างไรบ้าง
-
ผู้ประกอบการต้องเข้าใจก่อนว่า รายได้ที่จะนำมาคำนวณเพื่อเป็นเกณฑ์ในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องไม่ได้เป็นรายได้ที่มาจากกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ไม่ใช่กิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 แห่งประมวลรัษฎากร เช่น การให้บริการวิจัย การให้บริการทางวิชาการ)
-
เมื่อผู้ประกอบการเข้าข่ายการทำธุรกิจที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ต้องพิจารณาต่อไปว่า รายรับหรือรายได้ที่จะนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นต้องเป็นรายรับที่กิจการได้รับจริงๆ (ไม่ใช่กำไรหลังหักค่าใช้จ่าย) ซึ่งหากกิจการใด มีรายรับเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี (กรณีบริษัทหือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้นับเป็นแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี) ผุู้ประกอบการของกิจการดังกล่าวก็มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มูลค่าของฐานภาษีเกิน 1.8 ล้านบาท การนับจำนวนมูลค่าของรายรับให้นับแต่ละปีหรือแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเท่านั้น
กรณีรายรับจากการประกอบกิจการจะไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้ประกอบการเลย หากผู้ประกอบการใส่ใจและมีระบบการตรวจสอบรายรับของตนที่แน่นอนว่ากิจการของตนถึงเกณฑ์ที่กำหนดแล้วหรือไม่ แต่ความยุ่งยากมักเกิดจากผู้ประกอบการบางรายที่มีรายรับเกิน 1.8 ล้านบาทในระหว่างปีภาษี แบบคาดไม่ถึงและไม่ทราบว่าเกณฑ์แล้ว ซึ่งในทางกฎหมายผู้ประกอบการดังกล่าวมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มูลค่าของฐานภาษีเกิน 1.8 ล้านบาท แต่หากผู้ประกอบการไม่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้ประกอบการต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้กรมสรรพากรเฉพาะรายรับส่วนที่เกินมาจาก 1.8 ล้านบาทเท่านั้น หรือต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรกที่กิจการมีรายรับเกิน 1.8 ล้านบาท
ตัวอย่าง
ปี2561 บริษัท ก. มีรายรับจากการให้บริการ จำนวน 1,000,000 บาท และเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 บริษัท ก. มีรายรับจำนวน 1,800,000 บาท แต่ไม่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากร และไม่ทราบว่าตนมีรายได้เกินเกณฑ์ที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2562 บริษัท ก. ได้ให้พนักงานบัญชีของตนสำรวจรายรับของกิจการ และพบว่ากิจการมีรายรับทั้งสิ้น 2,000,000 บาท บริษัท ก. จึงได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในวันเดียวกันนั้น ถือว่า บริษัท ก. ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มูลค่าของฐานภาษีเกิน 1.8 ล้านบาท คือ ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562
ดังนั้นในปี 2562 บริษัท ก. จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากส่วนที่เกิน 1,800,000 บาท คือ 2,000,000x 7% นอกจากนี้ บริษัท ก. ยังต้องรับผิดชอบเสียเบี้ยปรับ 2 เท่า ของเงินภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษีตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเป็นจำนวนเงิน 1,000 บาทต่อเดือนภาษีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า และเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ