ภาษีธุรกิจเฉพาะ

1.ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ ผู้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ไม่ว่าผู้ประกอบกิจการดังกล่าวจะประกอบกิจการในรูปของ

– บุคคลธรรมดา

– คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

– กองมรดก

– ห้างหุ้นส่วนสามัญ

– กองทุน

– หน่วยงานหรือกิจการของเอกชนที่กระทำโดยบุคคลธรรมดาตั้งแต่สองคนขึ้นไปอันมิใช่นิติบุคคล

– องค์การของรัฐบาล สหกรณ์ และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล

ในกรณีผู้ประกอบกิจการอยู่นอกราชอาณาจักร ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการประกอบกิจการรวมตลอดถึง ลูกจ้าง ตัวแทน หรือผู้ทำการแทนซึ่งมีอำนาจในการจัดการแทนโดยตรง หรือโดยปริยายที่อยู่ในราชอาณาจักร เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีร่วมกับผู้ประกอบกิจการดังกล่าวข้างต้น

2.การประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

กิจการที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะได้แก่ การประกอบกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักร โดยกิจการนั้น ไม่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ

1. การธนาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือกฎหมายเฉพาะ

2. การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วย การประกอบ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

3. การรับประกันชีวิต ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต

4. การรับจำนำ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำ

5. การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงินค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงิน หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่าง ๆ

ในกรณีที่มีปัญหาว่า กิจการใดเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์หรือไม อธิบดีกรมสรรพากรจะเสนอให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรพิจารณากำหนดขอบเขตและเงื่อนไขของการประกอบกิจการดังกล่าวนั้นก็ได้และเมื่อคณะกรรมการวินิจฉัย ภาษีอากรได้วินิจฉัยแล้ว ให้ประกาศคำวินิจฉัยนั้นในราชกิจจานุเบกษา

6. การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 (ใช้บังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป) ดังต่อไปนี้

การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถือว่าเป็นทางการค้าหรือหากำไรตามพระราชกฤษฎีกาฯ ได้แก่การขายอสังหาริม ทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ดังต่อไปนี้

(1) การขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการจัดสรรที่ดิน

(2) การขายห้องชุดของผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ขอจดทะเบียนอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วย อาคารชุด

(3) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อขาย รวมถึงการขายที่ดินอันเป็นที่ตั้งของ อาคารดังกล่าว

(4) การขายอสังหริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) หรือ (3) เฉพาะกรณีที่มีการแบ่งขาย หรือแบ่งแยกไว้เพื่อขาย โดยได้จัดทำถนนหรือสิ่งสาธารณูปโภคอื่น หรือให้คำสั่นว่าจะจัดให้มีสิ่งดังกล่าว

(5) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการเฉพาะของบริษัทหรื ห้างหุ้นส่วน ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล องค์การของรัฐบาล สหกรณ์ และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล

(6) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เว้นแต่

(ก) การขายหรือการถูกเวนคืนตามกฎหมาย ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

(ข) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก

(ค) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญที่ผู้ขายมีชื่อ อยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีที่นับแต่วันที่ได้มาซึ่ง อสังหาริมทรัพย์นั้นในกรณีที่ที่ดินและอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างตาม (ค) ได้มาไม่พร้อมกันกำหนดเวลาห้า ปีตามความใน (16) ให้ถือตามระยะเวลาการได้มาซึ่งที่ดินหรืออาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้มาภายหลัง

(ง) การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ โดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายของตน แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม

(จ) การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ ทางมรดกให้แก่ทายาท โดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม

(ฉ) การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ส่วนราชการหรือ องค์การของรัฐบาลโดยไม่มีค่าตอบแทน

(ช) การแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์กับส่วนราชการ หรือองค์การของรัฐบาลเฉพาะในกรณีที่ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาลนั้นมิได้มีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นอย่าง อื่น นอกจากอสังหาริมทรัพย์ที่แลกเปลี่ยนนั้น

หมายเหตุ ผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์ตาม (6) ซึ่งได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะไว้แล้วเมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเสียภาษีเงินได้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าว มาคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา(พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 376 พ.ศ.2544)

(7) การขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์

(8) การประกอบกิจการอื่น ตามกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

กำหนดให้กิจการซื้อและขายคืนหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์เป็นกิจการที่อยู่ในบังคับต้อง เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากการประกอบกิจการซื้อหรือขายคืนหลักทรัพย์โดยมีสัญญาหรือซื้อคืนดังกล่าวมี ลักษณะอื่นที่อยู่ในบัง คับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ (พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 350) พ.ศ. 2524

กำหนดให้การประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงเป็นกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจ เฉพาะ เนื่องจากการประกอบธุรกิจดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับการให้กู้ยืมเงินที่เป็นการประกอบกิจการโดยปกติ เยี่ยงธนาคารพาณิชย์ (พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 358) พ.ศ.2542 )

คำว่า “ธุรกิจแฟ็กเตอริง” หมายความว่า ธุรกิจที่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการตกลงจะ โอนทรัพย์สินที่จะได้รับจากการชำระหนี้เนื่องจากการขายสินค้าหรือการให้บริการระหว่างตนกับลูกหนี้ของตน ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง โดยผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงตกลงจะให้สินเชื่อซึ่งรวมถึงการให้กู้ยืมและการ ทดรองจ่ายแก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการและรับที่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(ก) จัดให้มีบัญชีทรัพย์สินที่จะได้รับการชำระหนี้

(ข) เรียกเก็บทรัพย์สินที่จะได้รับจากการชำระหนี้

(ค) รับผิดชอบในหนี้ที่ลูกหนี้ของผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการผิดนัด

3. ฐานภาษี และอัตราภาษี

ฐานภาษีสำหรับการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ รายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ที่ผู้ประกอบกิจการได้รับ หรือพึงได้รับเนื่องจากการประกอบกิจการ

“รายรับ” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใด ๆ อันมีมูลค่าที่ผู้ประกอบกิจการ ได้รับหรือพึงได้รับ ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการ

กิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จะต้องเสียภาษีโดยคำนวณจากฐานภาษี ซึ่งได้แก่ รายรับตามฐานภาษี ของแต่ละประเภทกิจการ คูณด้วยอัตราภาษีที่กำหนดไว้ และจะต้องเสียภาษีท้องถิ่นอีก ร้อยละ 10 ของจำนวนภาษี ธุรกิจเฉพาะดังกล่าว

กิจการ ฐานภาษี อัตราภาษีร้อยละ
1. กิจการธนาคาร,ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์, ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และการประกอบกิจการเยี่ยง ธนาคารพาณิชย์ – ดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือกำไรก่อนหักรายจ่าย ใดๆ จากการซื้อหรือขายตั๋วเงินหรือ ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใด ๆ 3.0
– กำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการ แลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตรา การออกตั๋วเงินหรือการส่งเงินไปต่างประเทศ 3.0
2. กิจการรับประกันชีวิต – ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ 2.5
3. กิจการโรงรับจำนำ – ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม 2.5
– เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือ ประโยชน์ใดๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับ หรือพึงได้รับจากการขายของที่ จำนำหลุดเป็นสิทธิ 2.5
4. การค้าอสังหาริมทรัพย์ – รายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ 0.1
5. การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ – รายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ 0.1
(ยกเว้น)
6. การซื้อและการขายคืนหลัก ทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจาก คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ – กำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการขายคืนหลักทรัพย์ แต่ไม่รวมถึง ดอกเบี้ย เงินปันผล หรือประโยชน์ใดๆ ที่ได้จากหลักทรัพย์ 3.0
7. ธุรกิจแฟ็กเตอริง – ดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการ 3.0

หมายเหตุ อัตราภาษีของการค้าอสังหาริมทรัพย์ให้ลดและคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.1 สำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ได้กระทำภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ ( ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2551 ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2552 พระราชกฤษฎีกา ( ฉบับที่ 472 ) พ.ศ.2551)

4. การยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ

1. ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่

1.1 บุคคลซึ่งประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยกิจการนั้นไม่ได้รับยกเว้น ภาษีธุรกิจเฉพาะ

1.2 ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการประกอบกิจการในราชอาณาจักรของผู้ประกอบกิจการอยู่นอกราชอาณาจักร

1.3 ลูกจ้าง ตัวแทน หรือผู้ทำการแทนซึ่งมีอำนาจในการจัดการแทนโดยตรงหรือโดยปริยายที่อยู่ในราช อาณาจักรของผู้ประกอบกิจการที่อยู่นอกราชอาณาจักร

2. แบบแสดงรายการที่ใช้

แบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ใช้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี ธุรกิจเฉพาะได้แก่ แบบ ภ.ธ.40

3. หน้าที่ในการจัดทำรายงาน

ผู้ประกอบกิจการที่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ มีหน้าที่จัดทำรายงานแสดงรายรับก่อนหักรายจ่ายที่ต้อง เสียภาษีและรายรับที่ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีรายงานดังกล่าวให้จัดทำตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากร กำหนดโดยให้ จัดทำเป็นรายสถานประกอบการทั้งนี้การลงรายการในรายงานให้ลง ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่มีรายรับเว้นแต่อธิบดี กรมสรรพากรเห็นสมควร สำหรับการประกอบกิจการบางประเภทหรือในกรณีจำเป็นเฉพาะรายอธิบดีจะกำหนดเป็นอย่าง อื่นตามที่เห็นสมควรก็ได้

4. หน้าที่ในการเก็บรักษารายงานและเอกสารหลักฐาน

ผู้ประกอบกิจการที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะต้องเก็บและรักษารายงานพร้อมทั้งเอกสารประกอบ การลงรายงานหรือเอกสารที่อธิบดีกำหนดไว้ ณ สถานประกอบการจัดทำรายงานนั้นหรือสถานที่อื่นที่อธิบดีกรมสรรพากร กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือวันทำรายงานแล้วแต่กรณี

5. หน้าที่ในการออกใบรับ

ผู้ประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งได้รับเงิน หรือรับชำระราคาจากการขายสินค้า หรือการให้บริการหรือจากการกระทำกิจการรวมเงินหรือราคาที่ได้รับชำระแต่ละครั้ง เกิน 100 บาท ต้องออกใบรับให้แก่ ผู้จ่ายเงินหรือผู้ชำระราคาในทันทีทุกคราวที่รับเงินหรือรับชำระราคาไม่ว่าจะมีการเรียกร้องให้ออกใบรับหรือไม่ก็ตาม