คำว่า “มรดก” ในพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มิได้กำหนดความหมายของมรดกไว้โดยเฉพาะ อ้างอิงความหมายตามมาตรา 1599-1600 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวไว้ว่า เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้น ย่อมตกทอดแก่ทายาททันที โดยมรดกของผู้ตาย ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ด้วย ซึ่งทายาทของผู้ตายต้องรับสืบทอดหนี้สินของผู้ตายไปพร้อมกับทรัพย์สินเพื่อความเป็นธรรม จึงกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบไว้เพียงไม่เกินมูลค่าของมรดกที่ตนได้รับมา
กองมรดกของผู้ตาย ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมาย หรือโดยพินัยกรรม
1. ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมาย ได้แก่ ผู้สืบสันดาน บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ตามลําดับที่กฎหมายกําหนดไว้
2. ทายาทโดยพินัยกรรม ได้แก่ ผู้รับพินัยกรรม
ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) เกิดขึ้นเมื่อเจ้ามรดกตาย ผู้รับมรดกจากเจ้ามรดก แต่ละรายได้รับมรดกสุทธิมาในคราวเดียวหรือหลายคราว รวมกันแล้วมีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาท มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีการรับมรดก
– ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดก มาตรา 1599 – มาตรา 1755
– พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558
– พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558
– พระราชกฤษฎีกา กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการผ่อนชำระภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559