ค่าน้ำมันรถยนต์และค่าใช้จ่ายรถยนต์

ปัญหาของค่าน้ำมันรถยนต์และค่าใช้จ่ายรถยนต์

รถยนต์ที่นำมาใช้ในการประกอบธุรกิจจะมีอยู่ 2 ประเภทคือ

  1. รถยนต์ของกิจการ

หากรถยนต์เป็นของกิจการไม่ว่าจะ เช่า ซื้อ หรือเช่าซื้อในนามกิจการเมื่อมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์นั่งเกิดขึ้นก็ถือเป็นรายจ่ายของกิจการทำให้กิจการมีสิทธินำค่าใช้จ่ายมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ไม่ต้องห้าม ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโดยตรง และถ้ามีภาษีซื้อเกิดขึ้นจากค่าใช้จ่ายของรถยนต์ หากรถยนต์นั้นเป็นรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ภาษีซื้อถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่มีสิทธินำไปหักออกจากภาษีขายหรือขอคืนภาษีซื้อ แต่ถ้ารถยนต์นั่งไม่ใช่รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ภาษีซื้อมีสิทธินำไปหักออกจากภาษีขายหรือขอคืนได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร

  1. รถยนต์ของพนักงาน

กิจการบางประเภทได้มีการนำรถยนต์ของพนักงานมาใช้ในกิจการปัญหาที่เกิดขึ้นคือค่าใช้จ่ายที่เกิดจากรถยนต์ของพนักงานจะถือเป็นรายจ่ายและนำไปคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ หลักเกณท์มีดังนี้

  • เบิกตามบิลน้ำมัน พนักงานเติมน้ำมันรถยนต์เพื่อนำไปใช้ในการประกอบกิจการถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้าม แต่ต้องมีระเบียบพนักงานเขียนไว้ให้เบิกได้ครั้งละเท่าไหร่ และจะต้องมีรายงานระบุวัตถุประสงค์ของการเดินทาง
  • เบิกตามจริงหรือตามระยะทาง บางกิจการใช้วิธีเบิกค่าน้ำมันรถยนต์ตามจริงหรือตามระยะทาง โดยมีระเบียบกำหนดเงื่อนไขการเบิกค่าน้ำมัน ต้องมีการจัดทำรายงานการเดินทาง ดูจากมิเตอร์วัดระยะทางว่าเดินทางเป็นระยะทางกี่กิโล และจะต้องนำบิลน้ำมันมาเป็นหลักฐานในการเบิกค่าน้ำมัน
  • เหมาจ่ายค่าน้ำมัน กิจการบางประเภทมีพนักงานนำรถยนต์มาใช้ในกิจการ เช่น พนักงานขาย แบบนี้อาจจะกำหนดเป็นแบบเหมาจ่ายเป็นรายเดือน  ขึ้นอยู่กับการใช้สอยของรถยนต์ เมื่อสิ้นเดือนให้พนักงานนำบิลค่าน้ำมันมาเคลียร์  วิธีนี้ควรจะนำค่าน้ำมันรถยนต์มารวมกับเงินเดือนของพนักงานถือเป็นประโยชน์ส่วนเพิ่มของพนักงานเป็นเงินได้ของพนักงาน เมื่อกิจการจ่ายเงินให้ก็หักภาษี ณ ที่จ่ายรวมกับเงินเดือนพนักงาน ก็จะทำให้กิจการถือเป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร